ประกันชีวิต ประกันความมั่นคงเพื่อครอบครัวในอนาคต

ประกันชีวิต ประกันความมั่นคงเพื่อครอบครัวในอนาคต

วันอาทิตย์

ประกันภัยเพื่อธุรกิจปลอดภัย

ประกันอุ่นใจประกันภัยเพื่อธุรกิจปลอดภัย อุ่นใจไร้ความเสี่ยง

ปัจจุบันการบริหารความเสี่ยงองค์กรกำลังเป็นที่สนใจของทุกวงการทั้งภาครัฐและเอกชน มีการฝึกอบรมและนำไปใช้ในองค์กรอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ SMEs ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งในการบริหารความเสี่ยงองค์กรคือ การโอนความเสี่ยงภัยไปให้ผู้อื่นรับผิดชอบแทนซึ่งก็คือการประกันภัยนั่นเอง
  1. การประกันอัคคีภัย หรือการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน เป็นการประกันภัยทรัพย์สินที่เป็นตัวอาคารส่วนขยายต่อเติมตัวอาคาร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง เครื่องใช้อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสุขาภิบาล เครื่องจักรในการผลิตสินค้า และสต็อกสินค้า โดยการประกันอัคคีภัย จะให้ความคุ้มครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจาก ไฟไหม้ หรือ ฟ้าผ่า อีกทั้งยังสามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม เช่น ลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว หรือภัยน้ำท่วม ฯลฯ ส่วนการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินมีอัตราเบี้ยประกันที่สูงกว่าการประกันอัคคีภัย ซึ่งท่านสามารถเลือกซื้อได้ตามความเหมาะสมกับความเสี่ยงภัยของท่าน
  2. การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เป็นการประกันภัยความเสียหายทางการเงิน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอันเกิดจากภัยที่เอาประกันภัยไว้ตามการประกันภัย หรือ การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ความเสียหายทางการเงินได้แก่ กำไรสุทธิที่ขาดหายไปเมื่อธุรกิจหยุดชะงัก ค่าใช้จ่ายคงที่ยังคงต้องจ่ายแม้จะไม่มีการผลิตก็ตาม เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่า ฯลฯ และการผูกพันทางการเงิน เช่น ดอกเบี้ย
  3. การประกันภัยความรับผิดตามกฏหมายต่อบุคคลภายนอก เป็นการประกันภัยความรับผิดตามกฏหมายของผู้เอาประกันภัยต่อความบาดเจ็บทางร่างกายหรือชีวิต หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ที่เกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุอันมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของอาคารสถานที่ประกอบการของผู้เอาประกันภัย หรือจากความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติงานของพนักงาน ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย
  4. การประกันภัยความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ เป็นการประกันภัยความรับผิดตามกฏหมายของผู้เอาประกันภัยต่อความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือชีวิต หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินขแงผู้เสียชีวิต อันมีผลมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้เอาประกันภัยแล้วเกิดภัยตามที่ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์และเกิดขึ้นภายในอาณาเขตความคุ้มครองที่ระบุในกรมธรรม์
  5. การประกันภัยเงินทดแทนแรงงานและความรับผิดของนายจ้าง เป็นการประกันภัยความรับผิดของผู้เอาประกันภัยตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินค่าทดแทนแรงงาน หรือตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ต้องจ่ายเงินทดแทนแรงงานแก่พนักงานลูกจ้างผู้ซึ่งทำงานให้แก่ผู้เอาประกันภัย และได้รับบาดเจ็บทางร่างกายหรือชีวิตโดยอุบัติเหตุ หรือเป็นโรคซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานตามทางการที่จ้างของผู้เอาประกันภัย
  6. การประกันภัยการขนส่งสินค้า เป็นการประกันภัยทรัพย์สินที่เป็นสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่ง และได้รับความเสียหายหรือสูญหายโดยอุบัติเหตุจากสาเหตุต่างๆ ตามข้อตกลงคุ้มครองที่เลือกซื้อ เช่น รถคว่ำ รถชนกัน ไฟไหม้ ระเบิด สินค้าถูกขโมย รวมถึงความเสียหายหรือการสูญหายจากภัยธรรมชาติ ฯลฯ
  7. การประกันภัยสำหรับเงิน เป็นการประกันภัยทรัพย์สินที่เป็นเงินที่เก็บอยู่ในสถานที่เอาประกันภัย หรืออยู่ระหว่างการขนส่งภายนอกสถานที่เอาประกันภัย ซึ่งถูกขโมย จี้ชิง หรือจี้ปล้น ตามข้อตกลงคุ้มครองที่เลือกซื้อ
  8. การประกันภัยโจรกรรม เป็นการประกันภัยทรัพย์สินตามที่ตกลงกันไว้ ที่ถูกลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ตามข้อตกลงคุ้มครองที่เลือกซื้อ
  9. การประกันภัยรถยนต์ เป็นการประกันภัยที่คุ้นเคยกันดี แบ่งเป็นการประกันภัยรถยนต์ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือที่เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า การประกัน พ.ร.บ. และการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หรือที่เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า การประกันภัยประเภท 1 การประกันภัยประเภท 3 เป็นต้น
  10. การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่พนักงานและลูกจ้าง เมื่อประสบภัยหรือได้รับความเสียหายทางร่างกายจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งถือว่าเป็นสวัสดิการให้กับลูกจ้างได้ทำงานอย่างอุ่นใจ
ประเภทประกันภัยที่กล่าวมาข้างต้น เน้นที่ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินและความรับผิดตามกฏหมายที่ผู้ประกอบการทั่วไปควรจะจัดทำประกันภัยไว้เพื่อที่หากเกิดเหตุที่ไม่คาดหมายไว้ก็จะสามารภกลับไปดำเนินการต่อได้เพราะมีบริษัทประกันภัยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้ เมื่อธุรกิจมีกำไรก็อย่าลืมคิดถึงพนักงานลูกจ้างโดยการทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล หรือการประกันภัยสุขภาพ มอบให้กับพนักงานเป็นสวัสดิการเพิ่มเติมจากที่กฏหมายกำหนด

หากต้องการสอบถามเพิ่มเติม ประเมินอัตราเบี้ยประกันภัย หรือขอนัดหมายเพื่อการประเมินภัย ติดต่อตัวแทนรับประกันภัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น