ประกันชีวิต ประกันความมั่นคงเพื่อครอบครัวในอนาคต

ประกันชีวิต ประกันความมั่นคงเพื่อครอบครัวในอนาคต

วันอาทิตย์

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และการเรียกร้องสินไหม

รู้โรคภัย เข้าใจเคลม โรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับ Obstructive Sleep Apnea(OSA)



1. หากผู้เอาประกันเข้ารับการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography หรือ Sleep Test) โดยยังไม่ได้ทำการรักษา จะได้รับความคุ้มครองสัญญาพิเศษเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ และสัญญาพิเศษเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลรายวัน หรือไม่?
    - ไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography หรือ Sleep Test) เป็นการตรวจเพื่อประเมินว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ และมีความรุนแรงระดับใด เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป การทำ Polysomnography หรือ Sleep Test จึงเป้นการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วย ไม่ใช่การรักษาอาการเจ็บป่วย จึงไม่ได้รับความคุ้มครองสัญญาพิเศาเพิ่มเติมจากการประกันสุขภาพ และสัญญาพิเศษเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลรายวัน

2. หากผู้เอาประกันมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน เพื่อทำการรักษา หรือทำการผ่าตัด จะได้รับความคุ้มครองสัญญาพิเศษเพิ่มเติมใดบ้าง และได้รับความคุ้มครองอย่างไร?
   - ได้รับความคุ้มครองสัญญาพิเศษเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ และสัญญาพิเศษเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลรายวัน กรณีเป็นการรักษาอาการเจ็บป่วย และเข้ารับการรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยในตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ และหากมีค่าใช้จ่ายในการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography หรือ Sleep Test) ที่เกิดขึ้นภายใน 30 วัน ก่อนหรือหลัง เข้ารับการรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน จะได้รับความคุ้มครองในหมวดค่าวินิจฉัยโรคด้วยรังสีเอ็กซ์ และการตรวจในห้องปฏิบัติการ ตามวงเงินคุ้มครองของสัญญาพิเศษเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ

ทางการแพทย์พบว่า การนอนหลับที่ไม่ปกตินี้มีผลทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนเรื้องรัง ผลที่ตามมาก็คือ ร่างกายจะกระตุ้นสารที่มีผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ  และหลั่งสารที่มีผลต่อการบีบตัวของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายบีบตัว ผลคือความดันโลหิตสูงขึ้นอีก  นอกจากนี้ยังพบว่าเซลล์ของผนังหลอดเลือดจะทำงานผิดปกติ  ซึ่งจะทำให้มีผลต่อการหลั่งสารที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว  และยังมีผลต่อการทำงานของการเต้นของหัวใจ เป็นตัวที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

เมื่อมีผลมากมายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างนี้แล้ว  จึงไม่น่าแปลกใจที่ทางการแพทย์พบว่า  คนที่มีปัญหา Sleep apnea จะมีโอกาสเป็น ความดันโลหิตสูง   โรคหัวใจ   และหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้น!และเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บดังกล่าวอยู่ เช่น มีความดันโลหิตสูง การรักษาภาวะ Sleep apnea นี้ ก็จะทำให้คุมความดันโลหิตได้ง่ายขึ้น

สาเหตุของอาการนอนกรน นอกจากเกิดจากการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังพบว่าเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ต่อมทอนซิล และต่อมอดีนอยด์ (adenoid) ที่โต ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการนอนกรนที่สำคัญในเด็ก ผู้ป่วยที่อ้วนมากอาจมีเนื้อเยื่อผนังคอที่หนาทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอก หรือซีสต์ (cyst) ของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในระบบทางเดินหายใจส่วนบนก็ก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้เช่นกัน การที่มีโพรงจมูกอุดตัน ซึ่งมีสาเหตุจากหลายกรณี เช่นอาการคัดจมูกจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, ความผิดปกติของผนังกั้นช่องจมูก, เนื้องอกในจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก, ริดสีดวงจมูก, ไซนัสอักเสบ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนได้เช่นกัน ดังนั้นอาการนอนกรนจึงไม่ใช่เรื่องปกติ  ในทางตรงกันข้ามเป็นตัวบ่งบอกว่ามีการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเริ่มจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ต้องหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อเอาชนะทางเดินหายใจที่ตีบแคบ ความดันที่เป็นลบเพิ่มมากขึ้นระหว่างการหายใจเข้าจะทำให้ช่องคอตีบแคบลงกว่าเดิม ทำให้มีการขาดจังหวะในการหายใจได้บ่อยครั้งและแต่ละครั้งนานกว่าคนปกติ ถ้ามีการหยุดหายใจหลายครั้งในขณะนอนหลับจะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย เมื่อสมองขาดออกซิเจนก็จะต้องคอยปลุกให้ผู้ป่วยตื่นเพื่อเริ่มหายใจใหม่ และเมื่อสมองได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถหลับลึกได้อีกครั้ง แต่ต่อมาการหายใจก็จะเริ่มขัดขึ้นอีก สมองก็ต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นใหม่ วนเวียนเช่นนี้ตลอดคืน เป็นผลให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่เต็มที่

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ(sleep apnea) เป็นภาวะที่มีการหยุดหายใจเป็นระยะๆหรือมีการหายใจตื้นๆสลับกับการหายใจที่เป็นปกติในระหว่างที่นอนหลับ ซึ่งช่วงการหยุดหายใจดังกล่าวอาจเป็นเพียงไม่กี่วินาทีหรืออาจยาวเป็นนาทีก็ได้ โดยมักเกิด 5-30 ครั้งหรือมากกว่าในเวลา 1 ชั่วโมง ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ และมีอาการง่วงมากผิดปกติในช่วงระหว่างวันตามมา ซึ่งอาจนำมาสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น การหลับขณะขับรถ เป็นต้น รวมทั้งสมาธิและความจำก็จะลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงไปด้วย

โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่พบนั้นจะเป็นประเภทที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจ (obstructive sleep apnea) มีสาเหตุมาจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ทางเดินหายใจ การหนาตัวของเนื้อเยื่อผนังคอในผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาก การโตของต่อมทอนซิลในเด็ก หรือภาวะเนื้องอกบริเวณทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งการที่อากาศต้องเดินทางผ่านทางเดินหายใจที่แคบลงสามารถก่อให้เกิดเสียงกรนขึ้นได้

อีกประเภทหนึ่งที่พบได้น้อยกว่านั่นคือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเนื่องความผิดปกติของการสั่งงานของสมอง (central sleep apnea) ภาวะนี้สมองส่งสัญญาณควบคุมที่ผิดปกติไปยังกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการหยุดหายใจชั่วครู่

การหยุดหายใจขณะหลับทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง ส่งผลให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงมีการกระตุ้นร่างกายให้ตื่นขึ้นมาเพื่อหายใจ เมื่อเกิดการหยุดหายใจบ่อยๆ ผู้ป่วยจึงหลับๆตื่นๆตลอดคืนและไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้รู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับและตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น จากระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลงประกอบกับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ส่งผลเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของภาวะความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจวาย นอกจากนี้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ไม่ได้รับการรักษายังสามารถนำไปสู่การใช้พลังงานของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเพิ่มความเสี่ยงของภาวะอ้วนและเบาหวาน

จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ป่วยบางรายที่รู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับนั้นจะพยายามหายานอนหลับมารับประทางเองเพื่อให้นอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งยานอนหลับบางชนิดที่ออกฤทธิ์กดประสาทแรง เช่น midazolam, alprazolam และ diazepamจะมีผลกดการกระตุ้นของร่างกายที่ทำให้ตื่นขึ้นเมื่อระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง ดังนั้นการใช้ดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยถึงกับเสียชีวิตจากการหยุดหายใจได้ เพราะฉะนั้นแล้วจึงไม่ควรหายามาใช้เอง

การวินิจฉัย แพทย์จำเป็นต้องอาศัย ประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจพิเศษเพิ่มเติม

สำหรับการตรวจร่างกาย แพทย์จะให้ความสนใจในเรื่องต่อไปนี้
           • ลักษณะทั่วไปของคนไข้ ที่อาจมีภาวะส่งเสริมให้เกิดอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ เช่น คอสั้น  อ้วน    น้ำหนักมาก    มีความผิดปกติในลักษณะโครงสร้างของใบหน้า
           • การตรวจทั่วไป ได้แก่การวัดความดันโลหิต วัดเส้นรอบวงคอ การตรวจการทำงานของหัวใจและปอด
           • การตรวจทางหู คอ จมูกอย่างละเอียด ซึ่งประกอบด้วยการตรวจในโพรงจมูก การตรวจหลังโพรงจมูก ช่องปาก คอหอย เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทอนซิล โคนลิ้นและกล่องเสียง
การตรวจพิเศษเพิ่มเติม  ได้แก่
           • การบันทึกเสียงหายใจขณะหลับ (sleep tape recording) ซึ่งมีประโยชน์ในเด็กที่มีอาการไม่ชัดเจน หรือผู้ปกครองไม่สามารถจะสังเกตการหายใจที่ผิดปกติได้     โดยให้ผู้ปกครองใช้เทปคาสเซทต์ (tape cassette) บันทึกเสียงกรน หรือเสียงหายใจของเด็กขณะหลับ ประมาณ 1 ชั่วโมง 
           • การตรวจการนอนหลับ(polysomnography) เป็นการตรวจที่มีความสำคัญมากในการวินิจฉัย และบอกความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  โดยช่วยวินิจฉัยแยกภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการนอนกรนธรรมดา  และสามารถบอกคุณภาพของการนอนหลับว่าหลับได้ดีหรือไม่  มีความผิดปกติเกิดขึ้นในขณะนอนหลับหรือไม่   การตรวจการนอนหลับจะใช้เวลาตรวจช่วงกลางคืนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการนอนหลับในคนทั่วไป
source: mahidol.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น